รายละเอียดโครงการ โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use Hospital) PLEASE

วัตถุประสงค์หลัก

  1. สร้างต้นแบบ (model) ของโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่าง สมเหตุผลในโรงพยาบาลภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทุกระดับ เช่น โรงพยาบาลในกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน รวมถึงโรงพยาบาล ภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วม
  2. พัฒนาระบบ กลไก และเครื่องมือ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลให้เกิดขึ้นในสถานพยาบาลอย่างเป็นรูปธรรม
  3. พัฒนาเครือข่าย (network) เพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในโรงพยาบาลระดับต่างๆ อย่างเป็นระบบ
  4. พัฒนากลวิธีในการสร้างความตระหนักรู้ ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยน พฤติกรรมของบุคลากรทางการแพทย์และผู้รับบริการเพื่อนำไปสู่การใช้ยาอย่างสมเหตุผลที่ยั่งยืนในสังคม

 

ขั้นตอนการดำเนินงาน

โครงการฯ มีข้อนตอนการดำเนินงานที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

  1. กำหนดแนวทางการดำเนินงานของโรงพยาบาลที่จะเข้าร่วมโครงการฯ เรียกว่ากุญแจสำคัญ 6 ประการ สู่โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (PLEASE)
  2. จัดทำกรอบการปฏิบัติงาน และร่วมหารือกับทีมนักวิชาการจากกลุ่ม สถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยบัญชียาหลักแห่งชาติและโรงพยาบาล นำร่องต่างๆ ที่เป็นต้นแบบเพื่อจัดทำข้อมูลทางวิชาการในการสนับสนุนข้อปฏิบัติ ให้ดำเนินไปภายใต้หลักฐานเชิงประจักษ์ทางการแพทย์ และบริบทในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของประเทศ
  3. ร่วมกับทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พัฒนา ตัวชี้วัดของโครงการฯ และศึกษาความตระหนักรู้ของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานต่างๆ

 

  1. ผลักดันข้อกำหนดของโครงการฯ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการรับรอง มาตรฐานโรงพยาบาล หรือsystem specific accreditation เพื่อขอรับรองมาตรฐานการเป็น “โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล” ซึ่งในปัจจุบันได้ประสาน ให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Engagement for Patient Safety ของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) แล้ว
  2. สนับสนุนการจัดทำเครือข่ายเพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ในโรงพยาบาลระดับต่างๆ ตามภูมิภาคเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการ
  3. ประเมินผลสัมฤทธิ์ ให้การรับรองแก่โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ และมอบรางวัลเชิดชูเกียรติแก่สถานพยาบาลที่ผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัดที่กำหนด ทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้เกี่ยวข้องและประชาชนได้รับทราบเพื่อยกย่องโรงพยาบาลที่มีการดำเนินการเป็นตัวอย่างที่ดีและถือแบบอย่างต่อไป


กุญแจสำคัญ 6 ประการ

 P = Pharmacy and Therapeutics Committee (PTC) Strengthening

ความเข้มแข็งของคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด

L = Labeling and Leaflet for Patient Information

ฉลากยา ฉลากยาเสริม และข้อมูลยาสู่ประชาชน

E = Essential RDU Tools

เครื่องมือจำเป็นที่ช่วยให้เกิดการสั่งใช้ยาอย่างสมเหตุผล

Essential drug therapy recommendation

  • Non-communicable deseases
  • Responsibleuse of antibiotics

Evidence-based hospital formulary

Essential therapeutic monitoring and investigation

Essential information system for RDU

System for drug use monitoring and feedback

Essential policy for RDU

A = Awareness for RDU Principles among Health Personnel and Patients ความตระหนักรู้ของบุคลากรทางการแพทย์และผู้รับบริการต่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผล

S = Special Population Care การดูแลด้านยาเพื่อความปลอดภัยของประกรกลุ่มพิเศษ

E = Ethics in Prescription การส่งเสริมจริยธรรมและจรรยาบรรณทางการแพทย์ในการสั่งใช้ยา

 


กุญแจดอกที่ 1 การสร้างความเข้มแข็งของคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด (Pharmacy and Therapeutics Committee (PTC) Strengthening)

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 องค์การอนามัยโลกได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการมีคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัดที่เข้มแข็งในสถานพยาบาล ซึ่งเป็นที่ยอมรับในประเทศที่พัฒนาแล้วว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยา อย่างสมเหตุผลและคุ้มค่าขึ้นในสถานพยาบาล

โครงการ RDU Hospital มีเป้าหมายในการสร้างเสริมคณะกรรมการ เภสัชกรรมและการบำบัดให้เป็นหน่วยปฏิบัติงานที่มีความเข้มแข็ง สามารถชี้นำการจัดการด้านยาในองค์กรได้อย่างเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ โดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกในด้านต่างๆ ได้แก่

  1. การพัฒนาระบบเพื่อการติดตามตรวจสอบ และส่งเสริมการใช้ยาอย่าง สมเหตุผลรวมถึงกำกับการปฏิบัติงานตามกรอบของกุญแจดอกที่ 2 ถึง 6 ให้ ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. การจัดทำเภสัชตำรับ (hospital formulary) ที่มีความสอดคล้องกับปรัชญาและหลักการของบัญชียาหลักแห่งชาติ
  3. การสร้างความมั่นใจต่อคุณภาพยา (ensuring drug quality) แก่ผู้ใช้ยา
  4. 4. การติดตามความปลอดภัยด้านยาและการดำเนินการป้องกันแก้ไข (ensuring drug use safety)
  5. การควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยา (expenditure control)
  6. การฝึกอบรมบุคลากร (staff education)
  7. การควบคุมการส่งเสริมการขายของบริษัทยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ (controlling of all promotion activities to staff)

ปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของการปฏิบัติงานตามภาระและหน้าที่ของคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด ประกอบด้วย  การมีกำหนดมอบหมายถึงพันธกิจอย่างเป็นรูปธรรม (firm mandate) มีเป้าประสงค์ในการปฏิบัติงาน ที่ชัดเจนได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง มีความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน มีตัวแทนจากหลากหลายสาขาวิชาชีพสมรรถนะที่เหมาะสมกับหน้าที่ ใช้องค์ความรู้ที่อ้างอิงจากหลักฐานเชิงประจักษ์ ดำเนินงานภายใต้แนวทางสหสาขาวิชาชีพ (multidisciplinary approach) มีทรัพยากรเพียงพอที่จะดำเนินงาน และมีการประเมิน ติดตามหลังจากการนำนโยบายต่างๆ มาใช้จริง

 


กุญแจดอกที่ 2 การจัดทำฉลากยา ฉลากยาเสริม และข้อมูลยาสู่ประชาชน(Labeling and Leaflet for Patient Information)

          ฉลากยาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีความสำคัญต่อกระบวนการใช้ยาอย่างเหมาะสมทั้งต่อผู้ป่วยที่จะช่วยให้ใช้ยาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ต่อเภสัชกรที่จะช่วยในการให้คำอธิบายที่สำคัญเกี่ยวกับยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต่อแพทย์ ที่จะช่วยให้สั่งใช้ยาได้อย่างสมเหตุผลมากขึ้น

          โครงการ RDU Hospital มีเป้าหมายในการสนับสนุนให้ใช้ฉลากยามาตรฐาน (RDU label) เพื่อให้ผู้ป่วยรับทราบข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับยาได้อย่างสะดวกและครบถ้วน ช่วยให้ผู้ป่วยใช้ยาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยมากขึ้น ทั้งช่วยให้เภสัชกรให้คำแนะนำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสามารถใช้ข้อความบนฉลากยามา ประกอบคำอธิบายได้โดยสะดวก นอกจากนั้น ฉลากยามาตรฐานในปัจจุบันมีขนาดเล็กไม่สามารถบรรจุข้อมูลสำคัญที่ผู้ป่วยควรทราบของยาแต่ละชนิด ซึ่งอาจแก้ไขโดยการใช้ฉลากยาเสริม (extended label) ซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นและสามารถแนบหรือแปะติดเป็นสติกเกอร์ไปกับซองยาที่ผู้ป่วยได้รับจากสถานพยาบาล เพื่อเพิ่มข้อมูลที่สำคัญแก่ผู้ป่วย ซึ่งอาจมีความสำคัญต่อการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น

          เอกสารข้อมูลยาสำหรับประชาชน (patient information leaflet หรือ PIL) เป็นเอกสารที่จะจัดทำขึ้นภายใต้โครงการของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อให้บริษัทยานำไปใช้เป็นต้นแบบในการผลิตและส่งมอบไปพร้อมกับผลิตภัณฑ์ของตน หัวข้อของเอกสารข้อมูลยาสำหรับประชาชนประกอบด้วย ยานี้ คือยาอะไร ข้อควรรู้ก่อนใช้ยา วิธีใช้ยา ข้อควรปฏิบัติระหว่างใช้ยา อันตรายที่อาจเกิดจากยา และควรเก็บรักษายานี้ อย่างไร ในระหว่างที่โครงการดังกล่าวยังไม่ได้ ประกาศใช้อย่างเป็นทางการและการจัดทำเอกสารดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมรายการ  ยาที่เป็นเป้าหมายของโครงการ RDU Hospital จึงส่งเสริมให้โรงพยาบาลดำเนินการให้ผู้ป่วยที่ประสงค์จะได้ข้อมูลเกี่ยวกับยาเพิ่มขึ้นสามารถเข้าถึงเอกสารดังกล่าวได้สะดวกและทั่วถึง

 


กุญแจดอกที่ 3 การจัดทำหรือจัดหาเครื่องมือจำเป็นที่ช่วยให้เกิดการสั่งใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Essential RDU Tools)

          ประกอบด้วยเครื่องมือที่สำคัญ 6 ประการ ได้แก่

  1. เป้าหมายในการรักษา (Goal, G) และคำแนะนำการใช้ยาในกลุ่มยาเป้าหมายซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เป็นปัจจุบัน และเหมาะสมกับบริบทในการปฏิบัติงานของแต่ละสถานพยาบาล (Recommendation, R)
  2. เภสัชตำรับที่รายการยาถูกคัดเลือกอย่างโปร่งใส โดยใช้หลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับหลักฐานเชิงประจักษ์และหลักฐานด้านความคุ้มค่า
  3. แนวทางการส่งตรวจและการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็นต่อการวินิจฉัยโรคเป้าหมาย และการติดตามผลการรักษาที่สอดคล้องกับระดับของสถานพยาบาล (Monitoring, M)
  4. การจัดหาหรือจัดทำระบบข้อมูลอิเล็กโทรนิคส์ ด้านยาและการรักษาโรค ที่จำเป็นต่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
  5. ระบบและวิธีการปฏิบัติในการประเมินและการติดตามผลการใช้ยารวมทั้งการให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้สั่งใช้ยา
  6. นโยบายด้านยาที่จำเป็นต่อระบบการใช้ยาที่สมเหตุผล ได้แก่ นโยบายการใช้ยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ นโยบายการสั่งใช้ยาด้วยชื่อสามัญทางยา และนโยบายการใช้ยาในผู้ป่วยสิทธิรักษาพยาบาลกลุ่มต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน (Policy, P)

          ทั้งนี้สถานพยาบาลควรมีการประเมินพัฒนาระบบยาและการใช้ยาอย่างสมเหตุผล อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เช่น ให้มีการตรวจทานยาและการให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้สั่งใช้ยาก่อนการส่งมอบหรือการให้ยาแก่ผู้ป่วย โดยมีระบบการบันทึกและรายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด  เพื่อติดตามและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเดิมซ้ำอีก เป็นต้น

          โครงการ RDU Hospital ได้จัดทำคำแนะนำและตัวชี้วัดสำหรับโรคที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มโรคคือโรคติดเชื้อ (Responsible use of antibiotics; RUA) และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable disease; NCD) รวม 6 ประเภท ได้แก่ 1) ความดันเลือดสูง 2)เบาหวาน 3) ไขมันในเลือดสูง 4) ข้อเสื่อม/เกาต์ 5)โรคไตเรื้อรังและ 6) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/โรคหืด  โดยมีขั้นตอนดังนี้

 

  1. ยกร่างคำแนะนำฯ โดยคณะทำงานเฉพาะกิจ ซึ่งมีองค์ประกอบได้แก่ แพทย์และเภสัชกรจากเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ผู้แทนแพทย์จากราชวิทยาลัยแพทย์และ/หรือเภสัชกรจากโรงพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข อาจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์และผู้แทนคณะทำงาน ผู้เชี่ยวชาญการคัดเลือกยาในบัญชียาหลักที่เกี่ยวข้อง โดยให้ครอบคลุมถึงเครื่องมือ ที่สำคัญทั้ง 6 ประการดังกล่าวข้างต้น พร้อมตัวชี้วัดที่เหมาะสมในระยะเริ่มโครงการฯ (Indicator, I)
  2. นำร่างคำแนะนำฯ รับฟังความคิดเห็นในช่องทางต่างๆ จากโรงพยาบาลนำร่อง ราชวิทยาลัยสมาคมวิชาชีพ คณะผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนผู้ปฏิบัติ
  3. คณะทำงานเฉพาะกิจ นำความเห็นไปพิจารณา จัดทำเป็นแนวทางฉบับสมบูรณ์

 


กุญแจดอกที่ 4 การสร้างความตระหนักรู้ของบุคลากรทางการแพทย์และผู้รับบริการต่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Awareness for RDU Principles among Health Personnel and Patients)

การสร้างความตระหนักรู้ต่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในบุคลากรทางการแพทย์และผู้รับบริการและเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผลเป็นที่ยอมรับ และนำไปปฏิบัติได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้ผู้รับบริการได้รับเฉพาะยาจำเป็นที่มีคุณภาพ เกิดประสิทธิผลของการรักษาตามแนวทางการรักษามาตรฐานอย่างครบถ้วนปลอดภัยและคุ้มค่า

โครงการ RDU Hospital มีเป้าประสงค์ให้เกิดการสร้างกลไก ระบบ และกิจกรรมของสถานพยาบาล ที่สนับสนุนการสร้างความตระหนักรู้ฯ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ยาของบุคลากรทางการแพทย์และผู้รับบริการให้มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และต่างมีเจตคติที่ดี จนได้รับการยอมรับเป็นวัฒนธรรมองค์กรและกลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคมในหมู่ประชาชนผู้ใช้ยาซึ่งรวมถึงตัวผู้ป่วยเองและบุคคลใกล้ชิดที่อาจมีส่วนช่วยเหลือในการใช้ยาของผู้ป่วย

 


กุญแจดอกที่ 5 การดูแลด้านยาเพื่อความปลอดภัยของประชากรกลุ่มพิเศษ (Special Population Care)

การดูแลให้มีการใช้ยาอย่างเหมาะสมแก่ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงของยาเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการลดภาวะแทรกซ้อนจากยาต่อผู้รับบริการ

โครงการ RDU Hospital มีเป้าประสงค์ให้เกิดกลไก ระบบ และมาตรการ ในระบบยาของสถานพยาบาล ที่สนับสนุนให้เกิดการใช้ยาอย่างรอบคอบ ระมัดระวังในประชากรกลุ่มพิเศษและกลไกดังกล่าวถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพในการป้องกันอันตรายจากการใช้ยาในส่วนที่สามารถป้องกันได้ โดยได้จัดทำคำแนะนำและตัวชี้วัดสำหรับการดูแลด้านยาเพื่อความปลอดภัยของประชากรกลุ่มพิเศษ 6 กลุ่มได้แก่ 1) ผู้สูงอายุ 2) สตรีตั้งครรภ์ 3) สตรีให้นมบุตร 4) ผู้ป่วยเด็ก 5)ผู้ป่วยโรคตับ และ 6) ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากยาในผู้รับบริการกลุ่มพิเศษสอดคล้องกับมาตรฐานตามตัวชี้วัดที่ได้รับการกำหนดขึ้น

 


กุญแจดอกที่ 6 การส่งเสริมจริยธรรมและจรรยาบรรณทางการแพทย์ในการสั่งใช้ยา (Ethics in Prescription)

โครงการ RDU Hospital มีเป้าประสงค์ให้สถานพยาบาลปฏิบัติตามแนวทางในการคัดเลือกยาและการสั่งใช้ยาที่เป็นไปตามเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย รวมถึงการจัดให้เกิดกลไก ระบบ และมาตรการตามข้อกำหนดในการมีปฏิสัมพันธ์กับบริษัทยา ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือกระบวนการนำยาเข้าและออกจากสถานพยาบาลมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ไม่ตกอยู่ในอิทธิพล ของการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม และเป้าประสงค์ในระดับบุคลากร ให้มีการสั่งใช้ยาภายใต้ แนวทางของการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ตรงตามหลักจริยธรรมทางการแพทย์ โดยคำนึงถึงการสั่งใช้ยาที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับบริการจริง ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยา ความเท่าเทียมของผู้รับบริการและการเคารพในสิทธิผู้ป่วย

 

ที่มา : คู่มือการดำเนินงานโครงการโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use Hospital Manual) http://www1.si.mahidol.ac.th/km/node/3240