ความรู้เรื่องวัคซีน HPV (Human Papilomavirus Vaccine)

รองศาสตราจารย์ ดร.ชะอรสิน สุขศรีวงศ์ 
ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
 
อุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็งในประเทศไทย พบมะเร็งปากมดลูกสูงเป็นอันดับสอง (รองจากมะเร็งเต้านม) คือ 19.8 คน ต่อแสนประชากรหญิง หรือในประชากรหญิงทุกห้าพันคนจะพบหนึ่งคนที่เป็นมะเร็งปากมดลูก โดยมี Human Papilomavirus หรือ HPV เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ซึ่งสายพันธุ์ของ HPV ที่ก่อโรคมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยประมาณร้อยละ 70-75 คือสายพันธุ์ 16 และ 18 เช่นเดียวกับในต่างประเทศ ดังนั้นจึงได้มีการคิดค้นวัคซีน HPV เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกจากการติดเชื้อ HPV สองสายพันธุ์นี้ 

ในขณะนี้วัคซีน HPV มี 2 ชนิด คือ Quadrivalent vaccine (ชนิดไวรัส 4 สายพันธุ์ คือ 6, 11, 16 และ 18) และ Bivalent vaccine (ชนิดไวรัส 2 สายพันธุ์ คือ 16 และ 18) แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HPV ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก เกิดจากสองสายพันธุ์ นั่นคือ สายพันธุ์ 16 และ18 ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกประมาณร้อยละ 70 ดังนั้นสำหรับการเลือกวัคซีนเพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกจึงสามารถเลือกใช้ได้ทั้งสองชนิด ซึ่งประสิทธิภาพของวัคซีนจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ18 ได้ประมาณร้อยละ 90-100 ในผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน สำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อแล้ววัคซีนไม่สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ 

ความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อจะเกิดขึ้นภายใน 1 เดือน หลังจากได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม ส่วนระยะเวลาในการป้องกันโรคของวัคซีนยังคงต้องติดตามผลต่อไป เนื่องจากวัคซีนยังไม่มีข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนยาวเกินกว่า 10 ปี และเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการฉีดวัคซีน HPV ควรได้รับวัคซีนตั้งแต่ยังไม่ติดเชื้อ HPV นั่นคือ ก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ซึ่งวัคซีนนี้สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 – 26 ปี 

ข้อควรระวัง 

วัคซีนไม่แนะนำให้ฉีดในหญิงตั้งครรภ์ และไม่ควรฉีดในผู้ที่แพ้วัคซีนและส่วนประกอบในวัคซีน 

อาการข้างเคียง 

สามารถพบอาการปวด บวม แดง คัน บริเวณที่ฉีดวัคซีนและอาจมีไข้ได้ 
 
ความคุ้มค่า 

วัคซีน HPV สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ แต่เนื่องจากวัคซีนมีราคาค่อนข้างสูง (เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นๆที่ใช้ในการป้องกันโรค) ดังนั้น การเลือกใช้จึงขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของแต่ละบุคคลด้วย 

ข้อควรรู้
  1. วัคซีน HPV มีความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อ HPV เฉพาะสายพันธุ์ที่ทำวัคซีนเท่านั้น ส่วนสายพันธุ์อื่นๆ อาจป้องกันได้บ้าง
  2. ผลในการป้องกันการติดเชื้อจะได้ผลเต็มที่ต่อเมื่อยังไม่เคยได้รับเชื้อ HPV มาก่อน
  3. ถึงแม้จะได้รับวัคซีนป้องกันแล้ว แต่การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ก็ยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากวัคซีนไม่สามารถป้องการการติดเชื้อได้อย่างสมบูรณ์

เอกสารอ้างอิง

  1. Grabenstein John D. ImmunoFacts : Vaccines and Immunologic Drugs-2010. St. Louis, Mo.: Wolters Kluwer Health; 2009.
  2. HPV and Cancer. National Cancer Institute; [cited 2013 June 9]; Available from: 

    http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Risk/HPV#r6.
  3. Human Papillomavirus (HPV) Vaccines. National Cancer Institute; [cited 2013 June 9]; Available from: 

    http://www.cancer.gov/cancertopics/factsheet/Prevention/HPV-vaccine.
  4. วัคซีน : การวิจัยพัฒนา การผลิต การควบคุมคุณภาพ และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค. จรุง เมืองชนะ, สมฤดี จันทร์ฉวี, บรรณาธิการ. นนทบุรี: สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2555. 

ขอบคุณข้อมูลจาก : หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/173/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%84%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%99HPV(HumanPapilomavirusVaccine)