โดยทั่วไปแต่ละบ้านจะมียาสามัญประจำบ้านสำหรับรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆของคนในครอบครัว หรืออาจจะมียาเฉพาะโรคของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ซึ่งต้องทานยาต่อเนื่องตลอดชีวิต จึงอาจได้รับยาในแต่ละครั้งเป็นปริมาณมาก การเก็บรักษายาให้ถูกวิธีจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากเก็บยาไม่ถูกต้องแล้ว ยาดังกล่าวมีโอกาสที่จะเสื่อมคุณภาพก่อนวันหมดอายุของยา ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาโรค และอาจเกิดอันตรายจากการใช้ยาที่เสื่อมคุณภาพนั้นได้ จากปัจจัยของสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้ตัวยาสำคัญมีการเสื่อมสลายทำให้ปริมาณยาที่ไปออกฤทธิ์ในการรักษาลดลง ไม่ว่าจะเป็น ความชื้น แสงแดด สารเคมี เป็นต้น

       นอกจากนี้ การจัดเก็บยาที่ไม่ถูกต้อง มักเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่มักพบได้บ่อยคือ การแกะเม็ดยาออกจากแผงยา แบ่งใส่ภาชนะบรรจุตลับใส่ยา เพื่อความสะดวกในการรับประทานยา แต่นั่นอาจจะ เป็นการทำให้ยาสูญเสียประสิทธิภาพของยาไป จากการที่ยาสัมผัสกับ อากาศ ความชื้น แสงแดด ซึ่งต่างก็เป็นตัวเร่งให้เกิดการเสื่อมสภาพของยาตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ดังนั้น จึงไม่ควรแกะยาที่บรรจุในแผงหรือแบ่งออกจากภาชนะที่ทางผู้ผลิตได้บรรจุมาเพราะประเภทบรรจุภัณฑ์เริ่มแรกนั้นจะได้ตามมาตรฐานที่ตำรายาระบุไว้ สามารถเก็บรักษายาให้มีประสิทธิภาพอยู่ได้จนถึงวันหมดอายุตามที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ แต่หากมีความจำเป็นต้องแกะยาออกจากแผงหรือแบ่งยาออกจากกระปุกใหญ่ ให้แบ่งออกมาทีละน้อย ไม่ควรเกิน 1สัปดาห์ ในกรณีที่เป็นยาบรรจุแผง ไม่แนะนำให้แกะเม็ดยาออกมาแต่แนะนำให้ตัดแบ่งแผงยาออกเป็นขนาดเล็กๆ โดยขอบแผงยาที่ตัดแล้วจะต้องไม่มีส่วนใดฉีกขาดหรือมีรูรั่วทะลุถึงส่วนในที่บรรจุยาเม็ดในแผง ก่อนจะบรรจุในถุงยาหรือกล่องยาที่ปิดแน่นมิดชิด และควรมีคุณสมบัติที่กันแสงได้ เช่น ซองยา กล่องยาหรือตลับยา เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มเติม https://med.mahidol.ac.th/ramapharmacy/th/knowledge/general/11102015-0010-th