โรคเกาต์
หมายถึง โรคข้ออักเสบจำเพาะที่เกิดเนื่องจากมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่าปกติ ทำให้มีการตกผลึกยูเรต (Monosodium Urate, MSU) ในข้อ ก่อให้เกิดอาการข้ออักเสบขึ้น หากมีการตกตะกอนในเนื้อเยื่อต่างๆ และใต้ผิวหนัง จะเกิดเป็นก้อนตะปุ่มตะป่ำตามตำแหน่งต่างๆ เรียกว่า โทฟัส (tophus)
ปัจจัยการเกิดโรคเกาต์
โรคเกาต์ เป็นโรคข้ออักเสบที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยชายที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงเป็นสัดส่วน 9:1 โดยในเพศชายมักพบช่วงอายุระหว่าง 30-50 ปี เพศหญิงพบได้มากขึ้นในช่วงอายุมากกว่า 50 ปี หรือวัยหลังหมดประจำเดือน
ภาวะกรดยูริกในเลือดสูง หมายถึง ภาวะที่มีกรดยูริกสูงผิดปกติมากกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐาน โดยค่าสูงสุดที่ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติในเพศชายคือ 7.0 มก./ดล. และเพศหญิงวัยก่อนหมดประจำเดือนคือ 6.0 มก./ดล. หรือมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงกว่า 6.8 มก./ดล. เมื่ออิงตามคุณสมบัติทางเคมี
อาการของโรคเกาต์
1.ระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน
ลักษณะเด่นของโรคในระยะนี้ คือ การเกิดข้ออักเสบเฉียบพลันที่บริเวณข้อในส่วนล่างของร่างกาย โดยครั้งแรกมักเกิดที่บริเวณหัวแม่เท้าข้างใดข้างหนึ่งหรือที่ตำแหน่งข้อเท้า
2.ระยะที่ไม่มีอาการข้ออักเสบและระยะเป็นซ้ำ
ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการปกติทุกอย่าง มักมีประวัติข้ออักเสบระยะเฉียบพลันมาก่อน ระยะเวลาตั้งแต่การมีข้ออักเสบครั้งแรกถึงระยะต่อไปอาจกินเวลาแตกต่างกันในแต่ละราย
หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีโอกาสเกิดข้ออักเสบซ้ำภายใน 1 - 2 ปี เมื่อเป็นซ้ำบ่อยๆ จำนวนข้ออักเสบจะเพิ่มมากขึ้นและรุนแรงมากขึ้น ระยะเวลาในแต่ละครั้งที่มีข้ออักเสบยาวนานขึ้น อาจมีอาการทางกายอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการไข้
3.ระยะข้ออักเสบเรื้อรังจากโรคเกาต์
ลักษณะจำเพาะ คือ พบข้ออักเสบหลายข้อแบบเรื้อรังร่วมกับการตรวจพบก้อนที่เกิดจากการสะสมของผลึกยูเรตตามเนื้อเยื่อต่างๆ หรือเรียกว่า โทฟัส (tophus) บางครั้งอาจแตกออกมาเห็นเป็นสารสีขาวคล้ายชอล์ก ตำแหน่งที่พบโทฟัสได้บ่อยนอกจากบริเวณนิ้วหัวแม่เท้าและข้อเท้า คือ ปุ่มปลายศอก เอ็นร้อยหวาย ปลายนิ้ว และอาจพบที่ใบหูร่วมด้วย ในระยะนี้จะพบข้ออักเสบหลายข้อ และอาจมีไข้จากการอักเสบได้
การรักษาโรคเกาต์
1.การรักษาโรคเกาต์โดยไม่ใช้ยา
ประกอบด้วย การให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเกาต์ และการให้คำแนะนำในการปฏิบัติตนที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคเกาต์ เช่น
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านอาหาร และเครื่องดื่ม
- การรักษาโรคร่วมและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ เป็นต้น
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
2.การรักษาโดยการใช้ยา
ผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจพิจารณาการใช้ยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาให้ดียิ่งขึ้น
การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ป่วยโรคเกาต์
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- หลีกเลี่ยงอาหารประเภทเครื่องในสัตว์ เช่น ตับ ไต หัวใจ ปอด ไส้
- ลดเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เช่น น้ำผลไม้ น้ำอัดลม น้ำหวาน เป็นต้น
- หยุดนวด ทายา ประคบร้อนหรือเย็น บริเวณที่มีอาการอักเสบของข้อ
- แนะนำให้รักษาโรคร่วมที่เป็นอยู่ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วน เป็นต้น
- รับประทานยาลดกรดยูริก และยาป้องกันเกาต์กำเริบอย่างต่อเนื่อง การขาดยาอาจทำให้โรคกำเริบได้
- ตรวจระดับกรดยูริกในเลือด และพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
ที่มา : http://www.siphhospital.com