ไข้เลือดออก

B 

โรคไข้เลือดออกเกิดจากไวรัสเดงกี่ โดยมียุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ โดยยุงตัวเมียซึ่งออกหากินในเวลากลางวันและดูดเลือดคนเป็นอาหาร อาจกัดดูดเลือดผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าว และเชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุงแล้วไปอยู่ในเซลล์ที่ผนังกระเพาะ เมื่อไวรัสมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจะออกมาจากเซลล์ผนังกระเพาะของยุงและเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย พร้อมที่จะเข้าสู่คนที่ถูกกัดในครั้งต่อไป ซึ่งมีระยะฟักตัวในยุงประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงตัวนี้ไปกัดคนอื่นอีก ก็จะปล่อยเชื้อไวรัสไปยังผู้ที่ถูกกัดได้ เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนและผ่านระยะฟักตัวนานประมาณ 5-8 วัน (สั้นที่สุด 3 วัน - นานที่สุด 15 วัน) ก็จะทำให้เกิดอาการของโรคได้

 

 

อาการของโรคไข้เลือดออก

    อาการของโรคไข้เลือดออกจะแสดงหลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรคโดยมีความรุนแรงแตกต่างกัน ตั้งแต่มีอาการคล้ายเป็นไข้ไปจนถึงมีอาการรุนแรงมากจนถึงช็อกและอาจเสียชีวิตได้ โรคไข้เลือดออกมีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ ได้แก่

  1. อาการไข้สูง 2-7 วัน ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทุกรายจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ไปจนถึง 40-41 องศาเซลเซียส ซึ่งบางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชัก
  2. อาการเลือดออก ที่พบบ่อยที่สุดคือที่ผิวหนัง โดยจะตรวจพบว่าเส้นเลือดเปราะ แตกง่าย ร่วมกับมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีการอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) อาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่จะพบร่วมกับภาวะช็อก
  3.  ตับโต กดแล้วเจ็บ ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับแต่เริ่มป่วย ตับจะนุ่มและกดเจ็บ
  4. ภาวะการไหลเวียนเลือดล้มเหลว ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง โดยเกิดภาวะการไหลเวียนเลือดล้มเหลวหรือภาวะช็อก เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอดหรือช่องท้องมาก เกิด hypovolemic shock ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดภาวะช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค หรือวันที่ 8 ของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบา-เร็ว และความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง

การรักษาโรคไข้เลือดออก

    ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อไข้เลือดออก การรักษาโรคนี้เป็นการรักษาตามอาการและประคับประคอง ซึ่งจะได้ผลดีถ้าได้รับการวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก แพทย์ผู้รักษาจะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรคและให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด จะต้องมีการดูแลที่ดีตลอดระยะเวลาวิกฤต ประมาณ 24-48 ชั่วโมงที่มีการรั่วของพลาสมา

การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก มีหลักปฏิบัติดังนี้

  1. ในระยะไข้สูง บางรายอาจมีการชักได้ถ้าไข้สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีประวัติเคยชัก หรือในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน จำเป็นต้องให้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาพวกแอสไพริน เพราะจะทำให้เกร็ดเลือดเสียการทำงาน และระคายกระเพาะอาหารทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น และควรใช้การเช็ดตัวเพื่อลดไข้ร่วมด้วย
  2. ให้ผู้ป่วยได้น้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ทำให้ขาดน้ำ ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ในรายที่อาเจียนควรให้ดื่มครั้งละน้อยๆ และดื่มบ่อยๆ
  3. ติดตามดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา
  4. เมื่อผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ให้การรักษาได้ แพทย์จะตรวจเลือดดูปริมาณเกร็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือด และอาจนัดมาตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของเกร็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะๆ เพราะถ้าปริมาณเกร็ดเลือดเริ่มลดลงและความเข้มข้นเลือดเริ่มสูงขึ้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าน้ำเลือดรั่วออกจากเส้นเลือดและอาจช็อกได้ จำเป็นต้องให้สารน้ำชดเชย

#โรคไข้เลือดออก #ไวรัสเดงกี่ #ยุงลาย #พาหะนำโรค #Dengue #เชื้อไวรัส #มีไข้สูง #เลือดออก #อาเจียน #ถ่ายเป็นเลือด #มีจุดเลือด #ตับโต #ภาวะช็อก #กระสับกระส่าย #มือเท้าเย็น #การรักษาโรคไข้เลือดออก #การดูแลผู้ป่วยไข้เลือดออก

วิธีการป้องกันตนเองและผู้ใกล้ชิดไม่ให้ถูกยุงลายกัด มีดังนี้ 

  1. นอนในมุ้ง
  2. สวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว
  3. ใช้สารไล่ยุง (Mosquito Repellents) ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น ชนิดเป็นขด เป็นแผ่น เป็นครีม เป็นน้ำ ฯลฯ ซึ่งเหมาะสาหรับการใช้งานที่แตกต่างกันไป เช่น ใช้ทาผิว ใช้ชุบเสื้อผ้า ใช้ชุบวัสดุปูพื้น เป็นต้น
  4. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก      
  • ปิดปากภาชนะเก็บน้ำด้วยผ้า ตาข่ายไนล่อนอะลูมิเนียม หรือวัสดุอื่นที่สามารถปิดปากภาชนะเก็บน้ำนั้นได้อย่างมิดชิด จนยุงไม่สามารถเล็ดลอดเข้าใปวางไข่ได้
  • หมั่นเปลี่ยนน้ำทุกวัน ซึ่งเหมาะสำหรับภาชนะเล็กๆ ที่มีน้ำไม่มาก เช่น แจกันดอกไม้สด ทั้งที่เป็นแจกันที่หิ้งบูชาพระ แจกันที่ศาลพระภูมิ หรือแจกันประดับตามโต๊ะ รวมทั้งภาชนะและขวดประเภทต่างๆ ฯลฯ
  • ใส่ทรายในจานรองกระถางต้นไม้ เพื่อให้ทรายดูดซึมน้ำส่วนเกินจากการรดน้าต้นไม้ไว้ ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสาหรับกระถางต้นไม้ที่ใหญ่และหนัก ส่วนต้นไม้เล็กอาจใช้วิธีเทน้ำที่ขังอยู่ในจานรองกระถางต้นไม้ทิ้งไปทุกวัน
  • การเก็บทำลายเศษวัสดุ เช่น ขวด ไห กระป๋อง ฯลฯ และยางรถยนต์เก่าที่ไม่ใช้ หรือคลุมให้มิดชิดเพื่อไม่ให้รองรับน้ำได้

ที่มา : http://www.siphhospital.com

อนาคตของเรา โรงพยาบาลของเรา

    49 512   198  ถนนราชดำเนิน   ตำบลในเมือง อำเภอเมือง

    49 512   จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000

   images  โทร. 075-340250  

เกี่ยวกับคุกกี้บนเวปไซด์นี้

ความยินยอมข้อมูลส่วนบุคคลของคุณ เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ โดยให้ความยินยอมสำหรับคุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ และเพื่อประสิทธิภาพ รวมถึงความยินยอมในการเข้าถึงข้อมูล