หลอดเลือดหัวใจตีบ

he   

โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Disease: CAD or Coronary Heart Disease)

เป็นกลุ่มอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ครอบคลุมโรค 3 กลุ่ม ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดส่วนปลาย ซึ่งเป็นสาเหตุการตายของคนไทยเป็นอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็งและอุบัติเหตุ จากสถิติผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจในประเทศไทยพบว่า มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้น 21,700 รายต่อปี และในทุกชั่วโมงคนไทยจะเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเฉลี่ย 2.3 คน หรือวันละ 54 คน

โรคหลอดเลือดหัวใจเกิดจากการเสื่อมของผนังหลอดเลือดแดงโคโรนารี (Coronary) ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ รวมทั้งการมีไขมันอุดตันในหลอดเลือด ในระยะแรกนั้นหลอดเลือดหัวใจจะมีการปรับตัวขยายใหญ่ขึ้นเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดี แต่หากยังมีไขมันสะสมในผนังหลอดเลือดมากขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่สะดวกและไม่สามารถนำออกซิเจนไปสู่หัวใจได้ ทำให้เกิดอาการปวดเค้นที่บริเวณหัวใจ (Angina) หากการอุดตันหลอดเลือดแดงเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน (Heart Attack) จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเนื่องจากขาดออกซิเจน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ทันที

 

จากการศึกษาในประเทศไทยพบว่า ผู้ที่อยู่ในกลุ่มอาการเมตาบอลิก (Metabolic Syndrome) หรือกลุ่มอาการที่สืบเนื่องจากความอ้วนลงพุง เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นถึง 1.7 เท่า ยิ่งกว่านั้นผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานจะเพิ่มโอกาสในการเป็นมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นถึง 3.5 เท่า ในส่วนของผู้ป่วยที่เป็นทั้งเบาหวานและกลุ่มอาการเมตาบอลิกจะมีโอกาสในการเป็นมากกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้เป็นถึง 4.9 เท่า

อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจส่วนใหญ่มักไม่ทราบมาก่อนว่าตัวเองมีความผิดปกติหากไม่ปรากฏอาการ โดยผู้ป่วยจะมีอาการ ปวดเค้นที่บริเวณหัวใจ อาจร้าวไปที่แขน ไหล่ซ้าย ข้อศอก ขากรรไกร หรือไปที่ด้านหลัง และอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก ใจสั่น ซีด คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม เหงื่อออกมาก หมดสติ  ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการขยายหลอดเลือด ด้วยยา หรือการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับระดับของอาการของโรค

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ

  • พันธุกรรม          
  • เพศ
  • อายุ
  • มีความดันโลหิตสูง
  • มีไขมันในเลือดสูง
  • เป็นเบาหวาน
  • สูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายน้อย
  • ทานผัก ผลไม้น้อย
  • มีน้ำหนักมาก / อ้วน
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก
  • สภาพจิตใจเชิงลบ เช่น เครียด ซึมเศร้า หดหู่

แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ

ปัจจุบันการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ดังนี้

1. การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Balloon Angioplasty) คือ การดันคราบไขมันที่อุดตันในหลอดเลือดให้กลับไปติดกับผนังหลอดเลือด เพื่อขยายช่องทางการไหลของกระแสเลือดให้ไหลเวียนได้สะดวกขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจล้มเหลว

2. การขยายหลอดเลือดโดยการใช้แสงเลเซอร์ คือ การใช้แสงอัลตราไวโอเลตที่มีขนาดเล็กมากสลายคราบไขมันหรือหินปูนที่อุดตันตามผนังหลอดเลือด สิ่งอุดตันต่างๆ จะถูกสลายจนมีขนาดเล็กมากและจะถูกกำจัดออกจากร่างกาย

3. การขยายหลอดเลือดโดยการใช้หัวกรอ (Rotablator) คือ การรักษาการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจที่ไขมันและหินปูนเกาะตัวหนาแน่นมากหรือมีรอยตีบยาว และไม่สามารถขยายหลอดเลือดด้วยวิธีการบอลลูนในเบื้องต้นได้ หรือในกรณีที่เส้นเลือดมีขนาดเล็ก โดยใช้เครื่องมือที่มีลักษณะเป็นหัวกรอที่มีเพชรฝังอยู่ หัวกรอดังกล่าวจะหมุนด้วยความเร็วประมาณ 140,000 - 200,000 รอบต่อนาที สิ่งอุดตันจะถูกสลายออกเป็นอนุภาคเล็กๆ ซึ่งมีขนาดเล็กมากพอที่จะไหลเวียนในระบบหลอดเลือดอย่างปลอดภัยก่อนที่จะถูกกำจัดออกจากร่างกาย

4. การผ่าตัดต่อหลอดเลือดเพื่อนำหลอดเลือดจากบริเวณอื่นไปทำหน้าที่แทนหลอดเลือดหัวใจช่วงที่อุดตัน หรือที่เรียกว่า บายพาส (By Pass) เป็นการแก้ปัญหาการอุดตันของหลอดเลือดโดยสร้างทางเดินเลือดใหม่ให้เลี่ยงเส้นทางที่อุดตัน แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะนำหลอดเลือดดำที่ขาหรือหลอดเลือดแดงที่ผนังหน้าอกมาตัดต่อกับหลอดเลือดที่อุดตันเพื่อทำทางเดินของเลือดใหม่

5. การแก้ไขความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด โดยแบ่งการรักษาเป็น 2 แบบ คือ

    5.1 การรักษาโดยการใช้ยา ในรายที่หัวใจมีความผิดปกติไม่มากและหายเองได้ เช่น ผนังหัวใจห้องล่างรั่ว หรือในรายที่ยังไม่เหมาะสมต่อการผ่าตัดอาจรักษาด้วยยาไปก่อน รวมถึงการรักษาภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ปอดบวม

    5.2 การรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะทำการผ่าตัดในรายที่เป็นมาก หรือการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของหัวใจ

แนวทางการป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ

ถึงแม้พันธุกรรม เพศ และอายุ จะเป็นสาเหตุในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเพศชายจะมีความเสี่ยงมากกว่าเพศหญิง เพศชายที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป และผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงในการเกิดโรค แต่ประมาณร้อยละ 80-90 ของผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันอย่างน้อย 1 อย่าง แนวทางในการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่

  • ทานผัก ผลไม้เป็นปะจำ
  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • ไม่สูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ทำจิตใจให้สดชื่น อย่าเครียดบ่อย
  • ควรตรวจวัดความดันเลือด เจาะเลือดหลังงดอาหารและเครื่องดื่มมากกว่า 12 ชม. โดยเฉพาะผู้ชายที่มีรอบเอวมากกว่า 90 ซม. หรือผู้หญิงที่มีรอบเอวมากกว่า 80 ซม. เพื่อตรวจหาระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ เอชดีแอล (HDL) และน้ำตาลในเลือด

โรคหลอดเลือดหัวใจ ภัยร้ายใกล้ตัวอีกโรคหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม จากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปในสังคมเมือง อาจทำให้เราละเลยต่อการดูแลสุขภาพของตัวเอง หากรู้จักสังเกตความผิดปกติของร่างการก็จะสามารถช่วยให้การรักษาเป็นไปได้อย่างทันท่วงที

 

ที่มา : http://www.siphhospital.com

 

อนาคตของเรา โรงพยาบาลของเรา

    49 512   198  ถนนราชดำเนิน   ตำบลในเมือง อำเภอเมือง

    49 512   จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000

   images  โทร. 075-340250  

เกี่ยวกับคุกกี้บนเวปไซด์นี้

ความยินยอมข้อมูลส่วนบุคคลของคุณ เรามีการใช้คุกกี้ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หรือเพื่อการทำงานของเว็บไซต์ และเครื่องมืออื่นๆ โดยให้ความยินยอมสำหรับคุกกี้เพื่อการวิเคราะห์ และเพื่อประสิทธิภาพ รวมถึงความยินยอมในการเข้าถึงข้อมูล